Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

อากาศร้อนๆ แบบนี้ ระวัง! อันตรายจากฮีทสโตรก

15 เม.ย. 2567


   “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” (Heatstroke) คือ โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเกิดจากที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ จนทำให้ความร้อนในร่างกาย (Core Temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกมาทันที เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด
  • ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 40 องศาเซลเซียส
  • สับสน, กระสับกระส่าย, มึนงง
  • ชัก หรือหมดสติ
  • เหงื่อออกน้อย หรือไม่มีเหงื่อเลย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ผิวหนังแดง
  • หายใจเร็ว, ใจสั่น, หัวใจเต้นเร็ว
  • ปวดศีรษะ
ใครที่มีความเสี่ยงโรคลมแดด (Heatstroke)
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬากอล์ฟ เกษตรกร ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • ผู้ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคลมแดด
  • หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ (Heat Acclimatization)
  • ดื่มน้ำ 1 - 2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว
  • ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
  • ใช้ครีมกันแดด SPF 15 ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หรือ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในอากาศร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงให้เหงื่อออกลดลง ทำให้การระบายความร้อนของร่างกายแย่งลงได้
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด
  • ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
ทำอย่างไร เมื่อพบผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก
  1. พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น
  2. ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียน
  3. ถอดเสื้อผ้า ให้เหลือน้อยชิ้น หรือเท่าที่จำเป็น กรณีเป็นสุภาพสตรีให้คลายชุดชั้นใน
  4. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น เช็ดตามตัววางถุงน้ำแข็งตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่า
  5. หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
  6. รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  7. อันตรายหากช่วยเหลือไม่ทัน อาจถึงขั้นชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้
   หากเจอผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรกให้รีบ โทร.1669 หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ โทรสายด่วนฉุกเฉิน 1745 โรงพยาบาลในเครือบางปะกอก เพื่อเข้ารักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.นุชจรี สินสุขพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.